คุยสบายๆ กับ ดร.โจ้  

          เสียงพูดโหวกเวกแว่วมาทางหลังห้องประชุมเล็ดรอดออกมาค่อยบ้าง ดังบ้าง จากตู้ไม้ทรงสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาดประมาณ กว้าง x ยาว x สูง 1 เมตร x 2 เมตร x 2 เมตร กรุด้วยกระจกใสด้านหน้า ภายในมีคนเข้าไปนั่งได้สองคน ซึ่งหนึ่งในสองนั้นกำลังพูดใส่ไมโครโฟน เพื่อให้ผู้ฟังที่สวมอุปกรณ์หูฟังในห้องประชุมได้รับทราบเนื้อหาที่ถ่ายทอดออกมา ซึ่งหากใครได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมนานาชาติ หรือแม้แต่การประชุมระดับภูมิภาค หรือการประชุมขององค์การชำนัญพิเศษสหประชาชาติ รวมทั้งวิสาหกิจรัฐบาลและเอกชนที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ก็คงจะคุ้นเคยกับภาพ (รวมทั้งเสียง) ที่เห็นได้บ่อยๆ นี้ เพราะนั่นเป็นการทำงานของล่ามในที่ประชุม (conference interpreter)

          และถ้าหากเอ่ยถึงล่ามในที่ประชุม ที่จัดประเภทเป็นการทำงานแบบล่ามแปลฉับพลัน (simultaneous interpreter) แล้ว น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ดร.สืบศักดิ์ ศิริจรรยา เพราะด้วยประสบการณ์การทำงานที่บ่มเพาะมากว่า 17 ปี ทำให้สืบศักดิ์ หรือ ดร.โจ้ ก้าวขึ้นมาเป็นล่ามชั้นแนวหน้าของเมืองไทยอย่างเต็มตัว

.....โอ๊ย เจอมาแล้วแทบจะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการประชุมอะไร โจ้ทำล่ามมาแล้วทั้งนั้นแหละ อย่าว่าแต่ในเมืองไทยเลย บินออกไปทำล่ามเมืองนอกก็มีอยู่ประจำ 

          การทำงานล่ามให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากที่ล่ามจะต้องมีคลังคำหรือ glossary ของตนเอง เพื่อให้เรียกใช้ได้ทันเวลาแล้ว ล่ามยังต้องมีทั้งสมาธิ และความอดทนที่สูงมากๆ เพราะไม่มีทางเลยที่การทำงานในลักษณะนี้จะราบรื่นไปตลอดได้ทุกเวที ด้วยมีปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุมมากมาย ทั้งอุปกรณ์หูฟัง ตู้ล่าม (เสียงที่เล็ดรอดออกมา ก็เพราะตู้ล่ามที่ยังห่างจากเกณฑ์มาตรฐานสากล นอกนั้นก็เป็นเรื่องของล่ามที่พูดดังเกินไป) เครื่องเสียง สถานที่ประชุม ฝ่ายจัดการ และผู้ดำเนินการประชุม เป็นต้น

.....มีข้อแนะนำถึงบรรดา organizer หรือแม้แต่เจ้าของงานผู้ดำเนินการประชุม ถ้าหากต้องการให้งานออกมาดี ไม่ล่มกลางคัน ก็ควรจะหาผู้ให้บริการอุปกรณ์ที่อยู่ในวิชาชีพจริงๆ ดีกว่า อย่าหวังพึ่งมือสมัครเล่น ราคาค่าเช่าถูกกว่ากันไม่กี่พันบาทเลย

งานล่ามเป็นงานที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย ดังนั้น หากต้องการได้ผลออกมาดี ซึ่งหมายถึงการถ่ายทอดเนื้อหาออกไปให้ผู้ฟังได้รับทราบโดยครบถ้วนนั้น ควรต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ผู้ว่าจ้าง หรือบริษัทรับจัดการประชุม ที่เรียกว่า organizer และตัวล่ามเอง หากผู้จัดการประชุมจัดเตรียม จัดหาบทความ หรือข้อมูลที่จะใช้ในการประชุมให้ล่ามได้ศึกษาล่วงหน้า ก็นับเป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การได้รับความร่วมมือแบบนี้มีน้อยมาก

.....งานล่ามเป็นงานที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยในเวลาเดียวกัน ถ้ามีปัญหาเรื่องเครื่องเสียง อุปกรณ์ขัดข้อง โจ้ออกไปยืนหน้าห้องเลย 

          งานล่ามนั้นมีทฤษฎีที่ไม่แตกต่างจากงานแปลเท่าใดนัก ข้อสำคัญคือเป็นการแปลภาษาที่ยึดความหมายเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่เป็นการแปลแบบคำต่อคำ

.....ล่ามต้องแปลงานออกมาเพื่อให้ข้ามกำแพงวัฒนธรรมให้ได้ ไม่งั้นคนฟังไม่รู้เรื่องหรอก ยกตัวอย่าง ถ้าวิทยากรพูดมาร้อย โจ้แปลออกไปร้อยสิบเลย ซึ่งคนอื่นอาจจะแปลออกมาเพียงเจ็ดสิบเท่านั้น

          หาก Eugine Nida เจ้าของทฤษฎี Dynamic Equivalence หรือนักวิชาการด้านการแปลรุ่นหลังๆ อย่าง Lawrence Venuti หรือ Mona Baker ได้มารับฟังบทสัมภาษณ์ของ ดร.โจ้แล้ว ก็คงต้องหงายหลังเผาตำราทิ้งแน่ ก็ท่านเล่นแปลเกินกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์น่ะสิ

          มีผู้เข้าร่วมสัมมนาบางท่านเล่าให้ฟังว่า ขนาดบนเวทีเขาร้องเพลงกัน ดร.โจ้ของเรายังแปลเพลงออกมาแบบฉับพลันไปและกลับทั้งสองภาษาเสียด้วย ถึงขนาดนี้ถ้าไม่ได้รับรางวัลล่ามดีเด่นจากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว ก็ท่านเล่น localize เสียจนครบถ้วนทุกกระบวนความ

.....อยากให้บ้านเรามีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ให้คำรับรอง และจัดลำดับชั้นของนักแปลและล่ามอย่างจริงจังเสียที โจ้เป็นคณะกรรมการก่อตั้งของสมาคมฯ ตั้งแต่เริ่มแรก อยากให้สานงานนี้ให้สำเร็จเป็นมรรคเป็นผลจริงๆ เสียที

          ในบ้านเรายังไม่มีหน่วยงานกลาง หรือสถาบันหลักใดๆ ที่ให้การรับรองคุณสมบัติของนักแปลและล่าม ซึ่งงานส่วนนี้น่าจะเป็นของราชบัณฑิตยสถาน หรือของสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยก็ได้

.....เมื่อก่อนโจ้ก็เป็นคนกำหนดราคากลางของล่ามภาษาต่างๆ  เพื่อให้เป็นมาตรฐาน แต่ทุกวันนี้ ลำบากมาก ฟันราคากัน จนไม่มีกฏเกณฑ์อะไรเลย เอเยนซี่ก็ไม่ได้กลั่นกรอง ส่งมือใหม่หัดขับเข้ามาทำงาน จนงานล่มไปเยอะแยะ ลูกค้าเข็ดขยาด ไม่อยากว่าจ้างล่ามอีกเลย ที่พูดนี่ไม่ใช่ดูถูกหรือกีดกันนะครับ แต่อยากให้มีการคัดเลือกและฝึกอบรมกันก่อนออกงานจริง และที่สำคัญงานล่ามถ้าจะให้ดีก็ต้องฝึกฝนวิทยายุทธ์ตลอดเวลา หาข้อมูลใหม่ๆ เพิ่มเติม อยู่นิ่งไม่ได้ อย่างโจ้นี่ ทำงานล่ามปีละไม่ต่ำกว่า 100-150 วันทำการ เอาเป็นว่าถ้าล่ามที่ทำงานปีละ 10-15 วัน ก็ต้องไต่ระดับอีกเยอะครับ วันทำการหมายถึง 52 สัปดาห์ คูณด้วย 5 ก็คือ 260 วันนะครับ ไม่ใช่ 365 วัน

          มาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญเพื่อความอยู่รอด และอยู่อย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการแปลและการล่าม ถึงเวลาแล้วที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันกำหนดนโยบาย และผลักดันให้มีผลบังคับใช้อย่างจริงจังเสียที ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมนี้ก็คงย่ำเท้าอยู่กับที่ หรืออาจถอยหลังลงคลองด้วยซ้ำไป ในขณะที่ประเทศอื่นแซงหน้าเราไปไกลแล้ว ประเทศไทยมีทรัพยากรบุคคลอยู่มากมาย ทั้งนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ที่สนใจงานแปล งานล่าม รวมทั้งผู้อาวุโสผู้มีความรู้ความสามารถในด้านงานแปลที่จะเกษียณ หรือใกล้เกษียณ จะได้มีโอกาสทำงานที่ตัวเองรักได้อย่างต่อเนื่องจริงจัง

          ถึงแม้จะเป็นบทคัดย่อสั้นๆ จากการได้พบปะพูดคุยกับล่ามอาวุโสดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา” พ.ศ. 2553 ของสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าคงจะสะท้อนภาพรวมหลายๆ อย่างในธุรกิจนี้ให้เราได้เห็นกันไม่น้อยทีเดียว

นายล่ามโซ่

 

 

 
2010 Sapiens International Corporation. All rights reserved.          
contact: webmaster@sapiensagency.com